หวังว่าสักวันนึงจะมีคนมาถามคำถามนี้กับผม ฮ่า ๆๆ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลย ทุกคนจะต้องรู้ว่าอะไรคือ Colemak
Colemak Keyboard Layout
Colemak, ออกเสียงว่า /’ko:lmæk/ (Coal-Mac)เป็นรูปแบบการจัดวาง Layout ของคีย์บอร์ดที่ถูกคิดค้นโดย Shai Coalman ในปี 2006 ตอนนี้เป็น Keyboard Layout ยอดนิยมอันดับ 3 โดยอันดับแรกคืออันที่ทุกคนใช้กันอยู่นี่แหละคือ QWERTY ส่วนอันดับสองคือ Dvorak
ข้างบนนี่คือ Heat map ของ Keyboard Layout ของแต่ละแบบ จะเห็นว่าทั้ง Dvorak และ Colemak พยายามจะแก้ปัญหาที่ QWERTY มี คือการที่เราต้องเอื้อมมือไปกดตัวอักษรในแถวบนหรือล่าง แทนที่จะอยู่บน Home Row (แถวกลางนั่นแล มันคือแถวที่เราวางนิ้ว) ซึ่งจริง ๆ แล้วมันยังมี Layout อื่น ๆ อีกมากมายเช่น Workman, Dvorak Programmer และอื่น ๆ อีกมากมาย
จุดเริ่มต้น
มาถึงจุดเริ่มต้นของเนื้อเรื่องแล้ว ฮ่า ๆๆ ตั้งแต่เด็กแล้ว ผมมีโอกาสได้เรียนวิชาพิมพ์ดีดตอนมัธยมต้น โดยตอนนั้นยังทันที่เรียนแบบพิมพ์ดีดแบบเครื่องพิมพ์ดีดเลย คิดแล้วก็เป็นโชคดีของผมนะ ที่ได้เรียน รู้สึกเท่ แต่ว่าการเรียนนั้นตอนสอบก็โอเคอยู่นะ แต่พอผ่านมา ผมได้เล่นเกมออนไลน์เกมแรก Ragnarok นั่นเอง เพิ่งเข้าใหม่ ๆ เลย ด้วยความที่ต้องการ Speed ในการพิมพ์ เลยพิมพ์ไปพิมพ์มาเหลือใช้อยู่แค่ แปดนิ้วเท่านั้น (นิ้วก้อยไม่ได้ทำงานนั่นเอง) แล้วก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเดือนก่อน..
ย่ำอยู่ที่เดิม
ระหว่างที่ผมนั่งทำงานเป็นเป็น Developer อย่างเช่นทุก ๆ วันที่ผ่านมา ซึ่งที่บริษัทของผมเนี่ย นาน ๆ ทีก็จะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง คือการแข่งพิมพ์กันอย่างไร้เหตุผล นาน ๆ ก็จะเล่นกันสักทีนึง สิ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือความเร็วในการพิมพ์ของผมจะอยู่ที่ประมาณ 50 wpm มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะเล่นผ่านมากี่ปีก็ยัง 50 wpm อยู่นี่แหละ เมื่อเดือนที่แล้วผมก็เลยสงสัยว่าอะไรฟะ ทำไมมันไม่เร็วขึ้นเลย ทั้ง ๆ ที่พิมพ์มาเป็นปี ๆ
ก้าวไปข้างหน้า
ผมเลยไปลองเริ่มศึกษาด้วยว่าจะทำยังไงให้พิมพ์เร็วขึ้นได้บ้าง ทุก ๆ ที่ก็บอกแหละนะว่ามันต้องเริ่มจากการพิมพ์สัมผัสนี่แหละ การที่เราเพิ่มเข้าไปอีกสองนิ้ว มันจะช่วยเพิ่มความเร็วได้อีกมาก ก็เลยเอาวะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ละ ลองฝึกพิมพ์สัมผัสอีกสักรอบละกัน แต่จะเรียนใหม่ทั้งทีเนี่ย ลองดูเรื่อง Keyboard Layout สักหน่อย เริ่มจากดูก่อนเลยว่านอกจาก QWERTY แล้วมีอะไรที่ฮิต ๆ อีกบ้างก็คือเจอแบบข้างบน Dvorak กับ Colemak ที่เป็นอันดับ 2 กับ 3 แล้วก็เลยพบว่าอ้าวสองอันนี้เนี่ยมีให้เปลี่ยนใน Mac อยู่แล้ว ไม่ต้องโหลด Layout มาลงเพิ่มก็เลยสบายละ โดยสิ่งที่สองอันนี้เคลมว่าเหนือกว่า QWERTY ก็คือเรื่องของความ Ergonomic ไม่เจ็บข้อมืออะไรงี้ ก็ไม่รู้ว่าจริงไหมน่ะนะ ฮ่า ๆๆ
ตอนแรกใจนี่มาทาง Dvorak มาก จะเห็นว่า Dvorak จะเอาสระพวก a o e i u มาไว้ทางมือซ้ายหมดเลย ซึ่งมันก็ดีไปอีกแบบ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ คุณจะพบกับอะไรครับ!!? เอาง่าย ๆ ลองดูตัว C ก็ได้ครับ ลองคิดว่าจะต้อง Copy/Paste ดูครับ! ชีวิตเริ่มลำบากขึ้นมาเลยใช่ไหม และใช่ครับ นั่นคือข้อเสียของ Dvorak หลัก ๆ เลยก็คือ Keyboard Shortcut แย่มาก ๆ กดลำบาก ก็คือพิมพ์ง่ายแหละ แต่ความสะดวกสบายนี่หายไปเพียบ
อะ ข้อเสียมันหนักหน่วงไปรับไม่ได้ เลยไปลองดู Colemak บ้าง ก็ค้นพบว่า Shai Coleman เนี่ยเขาก็เข้าใจถึงจุดนี้ รวมถึงเข้าใจว่าการเปลี่ยนทั้ง Layout ไปเลยเนี่ย มันช่างไม่น่าเย้าหยวนใจให้เปลี่ยนเอาซะเลย เลยทำการเปลี่ยนคีย์จาก QWERTY เพียงแค่ 17 คีย์เท่านั้น
รวมถึงการเอาตัว shortcut สำคัญ ๆ เนี่ยไว้ทำเดิม ไม่ว่าจะเป็น C, V, W, Q ที่ใช้กันบ่อย ๆ พออ่านคำเคลมแล้วก็เออดูดีอยู่นะ เอาละวะ สักครั้งนึงในชีวิตขอเลือก Layout ที่จะใช้ด้วยตัวเองบ้างเถิด ก็เลยเลือกที่จะฝึก Colemak ดูสักตั้งหนึ่ง
การฝึกฝนมันช่างหนักหน่วง
การฝึกฝนก็เริ่มจากการที่ใช้เว็บไซต์ https://thetypingcat.com/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ดีมาก ๆ เขาจะค่อย ๆ ให้ฝึกทีละคีย์สองคีย์ โดนไล่ไปทีละแถว ตอนแรก ๆ เนี่ยผมก็เริ่มจากการใช้ QWERTY ในตอนกลางวัน แล้วมานั่งฝึกอันนี้ในตอนกลางคืน ไม่งั้นเดี๋ยวจะเขียนโค้ดได้ช้าเกินงานไม่เสร็จ ฮ่า ๆๆๆ ซึ่งบอกตามตรงว่ามันลำบากมาก ๆ เลยนะกับการเริ่มฝึกแรก ๆ ภาพ Layout มันยังไม่มา ใช้พลังของ muscle memory ล้วน ๆ ตอนที่ฝึก ขอแนะนำคำว่าอย่าก้มลงไปมอง keyboard เพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัยในภายหลังได้ ถ้าจะมอง Layout ก็มองอันของในเว็บนั่นแหละครับ มันมีให้อยู่และ จะได้ไม่ต้องก้มครับ
ตอนแรก ๆ เนี่ยคุณจะพิมพ์ได้แบบสโลว์ไลฟ์มาก ๆ ครับ แบบอารมณ์ 10 wpm แบบนั้นเลย ต้องอดทนครับ ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น ฮ่า ๆๆ ผมก็ฝึกจนครบทุกตัวอักษรใช้เวลาประมาณสามอาทิตย์ครับ แล้วก็ฝึกพิมพ์มาเรื่อย ๆ จนได้ประมาณ 30 wpm ครับ พอถึงจุดนี้ผมก็เอาวะ น่าจะใช้ทำงานไหวแล้ว ก็เอา QWERTY ออกจาก Keyboard ออกไปแล้วใช้ Colemak ทำงานซะเลย
ทำงานช้ามาก ๆ ช้าจนหงุดหงิด : armariya
นั่น quote มาจากคำพูดของผมเองที่พูดกับตัวเองด้วยเนี่ยแหละ ฮ่า ๆๆๆ ความเร็วผมก็กระเตื้องขึ้นช้ามาก ๆ แต่ก็ดีขึ้นตามวันเวลาที่เปลี่ยนไปครับ จนประมาณเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ลองใช้อีกเว็บหนึ่งก็คือ https://www.keybr.com/ มันคล้าย ๆ กันแหละครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเอาไว้ฝึกตอนที่รู้ Layout หมดแล้วดีกว่าครับ คือเขาทำดีมาก ๆ ถ้าคุณ Login เนี่ย มันจะมี Profile ให้ดูด้วยครับ แบบพิมพ์เร็วขึ้นแค่ไหน พิมพ์ผิดบ่อยไหม พิมพ์ตัวไหนบ่อย ซึ่งดีมาก ๆ เลยครับ ทำให้เราเห็นพัฒนาการของตัวเอง แล้วทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก ๆ ครับ
หลังจากผ่านมาเดือนครึ่งจากจุดเริ่มต้น จนตอนนี้ผมพิมพ์ได้เฉลี่ยนประมาณ 55 wpm แล้วครับ สูงสุดคือ 72 wpm ซึ่งรู้สึกดีมาก ๆ ที่การลงแรงของเรามันประสบความสำเร็จ เย่!
สรุปทั้งหมดทั้งมวล ถ้าใครอยากพิมพ์เร็วเนี่ย ถ้าไม่อยากเปลี่ยน Layout แนะนำว่ายังไง ๆ ก็ควรที่จะพิมพ์สัมผัสนะครับ แนะนำให้ลองลงแรงดู มันจะช่วยให้พิมพ์ได้เร็วขึ้นเยอะเลยครับ แต่ถ้าใครอยากลองเปลี่ยนมาใช้ Colemak แบบผมละก็บอกเลยว่า Welcome!
อ้างอิง
- ภาพ Heat map ของ Keyboard Layout และภาพ Keyboard — https://www.patrick-wied.at/projects/heatmap-keyboard/
- ข้อมูลเกี่ยวกับ Colemak
- เว็บไซต์สำหรับฝึกพิมพ์ — https://thetypingcat.com/
- เว็บไซต์สำหรับฝึกพิมพ์หลังจากรู้ Layout แล้ว — https://www.keybr.com/
Top comments (3)
แค่คิดว่า dev จำเป็นต้องพิมพ์เร็วด้วยหรอ ไม่ได้เป็น translator หรือ intepreter ซะหน่อย
ผมคิดว่าถ้าเร็วมันก็น่าจะดีกว่านะครับ มันจะมีจังหวะที่เรามีิอัลกอริทึ่มในหัวอยู่แล้ว แล้วเราต้องพิมพ์มันออกมา ยิ่งเราพิมพ์เร็วเท่าไหร่ มันก็ทำให้ไปทำอย่างอื่นต่อได้เร็วขึ้นนะครับ เรียกว่า Nice to have ละกัน หลาย ๆ อย่างบนอินเทอร์เน็ตก็ต้องใช้การพิมพ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะพิมพ์โพส เขียนบล็อก ถ้าพิมพ์เร็วมันก็ดี แต่ถ้าช้าลงมาหน่อยก็เรียกว่าไม่ได้เป็นอะไรครับ ยังไงก็ขอบคุณที่อ่านนะครับ
จะโดนพี่ป้ายยาส่ะแล้ว